วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

การนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ

การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในองค์กร


          เทคโนโลยี ด้านต่าง ๆ ได้ถูกนำมาประยุกต์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อนำไปใช้ประมวลผลข้อมูลในงานด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้การทำงานมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งสารสนเทศหรือผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ สามารถแลกเปลี่ยนหรือค้นหาได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย เทคโนโลยีที่นำมาใช้ประมวลผลหรือจัดการกับข้อมูลเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ต้อง การนั้น เรียกว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)”ซึ่งปัจจุบัน ถูกนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ มากมายเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ระบบการจัดเก็บข้อมูลของคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารข้อมูลในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น คือ องค์ประกอบของ “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ซึ่งที่ช่วยให้การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่ต้องการนั้น มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นอีกทั้งสารสนเทศที่ได้ก็มีความถูกต้องและเชื่อถือได้ ดังจะเห็นได้จากการให้บริการแก่ลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ ที่มีรูปแบบหลากหลายขึ้น ทั้งการบริการโดยตรงจากบริษัทเอง การบริการผ่านเครื่องทำรายการอัตโนมัติ หรือบริการผ่านเว็บไซต์ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ทั้งสิ้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับระบบงานในองค์กร

                  เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างเป็นระบบสารสนเทศสำหรับงานด้านต่าง ๆ ภายในองค์กรได้อย่างมากมาย ระบบงานภายในองค์กรซึ่งอยู่ในที่นี้จะกล่าวถึง คือ ระบบงานทางธุรกิจทั่วไปที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร เช่น ระบบบัญชีเงินเดือน ระบบสินค้าคงคลัง และระบบบัญชี เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การดำเนินงานในแต่ละวันขององค์กรมีประสิทธิภาพและมีศักยภาพมากขึ้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านบริหาร

                สำหรับงานด้านบริหาร ซึ่งเป็นงานที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ต้องอาศัยสารสนเทศเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

1. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS) เป็นระบบที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเตรียมสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้ระบบที่เป็นผู้บริหาร โดยสารสนเทศนี้ มักเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Decision) หรือแบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured Decision) ที่เป็นการตัดสินใจต่อเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าหรือคาดการณ์ได้ยาก ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเป็นระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้สามารถกระทำการตัดสินใจได้ด้วยความชาญฉลาด แต่ทั้งนี้ไม่ได้ใช้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ เพื่อการตัดสินใจแทน ดังนั้น เมื่อผู้ใช้ระบบต้องการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ผู้ใช้จะทำการป้อนข้อมูลที่เป็นตัวแปรต่าง ๆ ของเหตุการณ์นั้นเข้าสู่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ จากนั้นระบบจะประมวลผลลัพธ์ต่าง ๆ แล้วรายงานออกมาเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ระบบได้เห็นและรับทราบถึงข้อเปรียบเทียบ โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับตัวแปรที่แตกต่างกันของสถานการณ์นั้น ๆ และสุดท้ายจึงเป็นหน้าที่ของผู้ตัดสินใจว่าจะปฏิบัติตามแนวทางหรือไม่อย่างไรจึงจะดีที่สุด
ในกรณีที่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ถูกนำไปใช้โดยผู้บริหารระดับสูง (Executive Manager) ระบบนี้จะถูกเรียกว่า “ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูง (Executive Information Systems : EIS)”

2. ระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่ม (Group Support System : GSS) คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น การประชุมทางไกล การถ่ายโอนข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง เป็นต้น ระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่มเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อระบบสนับสนุนการตัดสินใจมาก ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจแบบกล่มได้ ดังนั้น โดยทั่วไปจึงมักเรียกระบบสนับสนุนการทำงานแบบกลุ่ม ว่า “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจแบบกลุ่ม(Group Decision Support System)” หรือ “ระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Meeting System)”การทำงานเป็นกลุ่มหรือการตัดสินใจแบบกลุ่มนั้น จะพบในองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากงานบางอย่างไม่สามารถตัดสินใจเพียงลำพังได้ และวิธีการร่วมกันตัดสินใจก็คือ “การประชุม” ซึ่งถึงแม้ว่าการตัดสินใจแบบกลุ่มจะเป็นงานที่ซับซ้อนและใช้เวลามาก แต่เมื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยแล้ว จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายขึ้น ลดข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางมาประชุมได้ หรือสามารถร่วมประชุมโดยสมาชิกอยู่ต่างสถานที่กันได้

3. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) คือ ระบบสารสนเทศที่ใช้จัดการข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ตั้งแต่ การจัดเก็บ ประมวลผล วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ภาพถ่าย (ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ) ข้อมูลสภาพภูมิศาสตร์ พื้นที่ ประชากร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ทั้งหมดโดยซอฟต์แวร์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการ เรียกใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ที่ต้องการได้ การจัดเก็บข้อมูลของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์จะเก็บเป็นเลเยอร์ (Layer) แต่ละ เลเยอร์ คือ ข้อมูลแต่ละชนิด เช่น ข้อมูลที่เป็นภาพถ่าย แผนที่ ข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลประชากร ข้อมูลเส้นทาง ข้อมูลยอดขายของแต่ละพื้นที่ เป็นต้น เมื่อแสดงผลข้อมูลเหล่านี้จะมีการซ้อนทับกัน จนกลายเป็นรูปเดียวกัน ถึงแม้ว่าข้อมูลจะถูกแยกเป็นเลเยอร์ แต่ทุกเลเยอร์จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งหมดองค์กรที่ติดตั้งระบบ สารสนเทศภูมิศาสตร์จะสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาผลลัพธ์ที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจด้านต่าง ๆ ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้น จะต้องมีความสามารถทางด้านกราฟิกเพื่อใช้ในการแสดงผลนอกจากนี้ ยังต้องมามีฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บข้อมูลชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานข้อมูลเพื่อจัดเก็บแบบจำลอง (Model)ที่สร้างขึ้น
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นอกจากจะถูกนำไปใช้งานทางด้านการทหาร หรืองานด้านการวางผังเมืองแล้ว ยังถูกนำไปใช้งานธุรกิจอีกมากมาย เช่น การคำนวณเส้นทางการจัดส่งสินค้า การวิเคราะห์หาทำเลที่เหมาะกับการทำธุรกิจ เป็นต้น สำหรับทิศทางระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โดยส่วนใหญ่ จะเพิ่มความสามารถในด้านต่าง ๆ ดังนี้

   3.1 สามารถสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ เพื่อจำลองการเคลื่อนที่ของพายุเฮริเคนใด้
   3.2 เชื่อมโยงฐานข้อมูลแผนที่ให้สามารถแสดงบนเว็บไซต์ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้
   3.3 เพิ่มความสามารถในงานด้านต่าง ๆ ได้ เช่น งานกระดาษคำนวณ (Spreadsheet) งานวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเหมืองข้อมูล (Data Mining) เป็นต้น
   3.4 เพิ่มเทคโนโลยีไร้สายให้สามารถติดตามการเดินทางของรถบรรทุกได้

4. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) หมายถึง ศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์การคอมพิวเตอร์ ที่ต้องการประดิษฐ์เครื่องจักร เช่น คอมพิวเตอร์ หรือหุ่นยนต์ ให้สามารถคิดและมีพฤติกรรมเลียนแบบมนุษย์ในกระบวนการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการวินิจฉัย หาเหตุผล จากความรู้ที่จัดเก็บไว้ และนำความรู้นั้นมาเชื่อมโยงเพื่อหาข้อสรุปหรือผลลัพธ์ของปัญหานั้นได้ในที่ สุดปัญญาประดิษฐ์เป็นแนวคิดที่เริ่มมีมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาความสามารถจนนำมาใช้สร้างปัญญาประดิษฐ์ได้ เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับงานแขนงต่าง ๆ หลายด้าน ได้แก่ หุ่นยนต์ (Robotic) ระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System : ES) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) และเทคโนโลยีเสียง (Voice / Speech Technology) คอมพิวเตอร์โครงข่ายใยประสาท (Neural Network Computing) ตรรกะคลุมเครือ (Fuzzy Logic) ตัวแทนปัญญา (Intelligent Agent) ระบบช่วยสอนอันชาญฉลาด (Intelligent Tutoring System) ระบบความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality System) ซึ่งงานแต่ละแขนงล้วนมีความเกี่ยวข้องกันทั้งหมด และมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเลียนแบบมนุษย์ได้ ตัวอย่างเช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการนำเสนอองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำอย่างมีเหตุผล สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของตนมาใช้ในการฝึกฝนการแก้ไขปัญหาเอง ได้คล้ายกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ การพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้จำนวนมาก เพื่อการแปลความ เปรียบเทียบ และวิเคราะห์จนกว่าจะได้ผลลัพธ์

5. คอมพิวเตอร์โครงข่ายใยประสาท (Neural Network Computing) หรือ “โครงข่ายใยประสาทเสมือน (Artificial Neural Network : ANN)” หมายถึง คอมพิวเตอร์ที่สามารถเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ได้ ด้วยการประมวลผลข้อมูลสารสนเทศ และองค์ความรู้ได้ในคราวละมาก ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถรับและจดจำสารสนเทศในรูปแบบที่เป็นประสบการณ์ได้ทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริงทั้งหลายเข้าด้วยกันเพื่อหาข้อสรุป และใช้ประสบการณ์ที่จัดเก็บไว้มาเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า ข้อเท็จจริงใหม่ที่ได้รับเข้ามามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพื่อทำการปรับปรุงองค์ความรู้ให้มีความทันสมัยเพื่อประโยชน์ในอนาคตการเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เริ่มจากการกำหนดให้แต่ละซอฟต์แวร์ เรียกว่า “โหนด (Node)” เปรียบเสมือนว่าเป็น “เซลล์ประสาท” และสร้างการเชื่อมต่อให้กับโหนดเหล่านั้นให้เป็นโครงข่าย (Network) แต่ละโครงข่ายจะประกอบไปด้วยโหนดที่ถูกจัดแบ่งเป็นชั้น ๆ เรียกว่า “เลเยอร์” แต่ละเลเยอร์จะมีหน้าที่การทำงานแตกต่าง
ตัวอย่างการนำโครงข่ายใยประสาทเสมือนมาใช้ในงานด้านธุรกิจ เช่น ใช้พยากรณ์ราคาหุ้น ประเมินความเสี่ยงของการประกันภัยทรัพย์สิน ทำนายตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ พยากรณ์อากาศ สร้างกลไกการวินิจฉัยข้อผิดพลาด เป็นต้น

6. ระบบความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality System) หมายถึง ระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ระบบเคลื่อนไหวจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมที่ถูกจำลองขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ได้ (Computer Simulated Environment) การที่ผู้ใช้ระบบจะสามารถมองเห็นและเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจำลองนั้นได้ ต้องผ่านอุปกรณ์พิเศษที่ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อนำพาผู้ใช้ไปสู่โลกความเป็นจริงเสมือน ที่สามารถสัมผัสได้ทั้งภาพและเสียง อุปกรณ์พิเศษเหล่านี้จะมีโปรแกรมบันทึกการเคลื่อนไหว เสียง และการรับรู้ความรู้สึกของผู้ใช้ได้ เช่น รับรู้ว่าใช้หันศีรษะไปทางขวา ระบบ จะต้องจำลองภาพให้มีการเคลื่อนไหวไปทางขวาตามผู้ใช้ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกคล้ายกับอยู่ในโลกของความเป็นจริง ยกตัวอย่างอุปกรณ์สำหรับระบบความเป็นจริงเสมือน เช่น ถุงมือ แว่นตา หมวก เป็นต้น ระบบความเป็นจริงเสมือนถูกนำมาใช้ในกับงานด้านต่าง ๆ เช่น ใช้ในการฝึกทหาร ฝึกขับรถบรรทุกภายใต้สภาพพื้นที่แตกต่างกัน ใช้แสดงแบบจำลองบ้านและอาคารบนเว็บไซต์ แสดงแบบจำลองของสินค้า หรือแสดงแบบจำลองห้องพักของโรงแรม เป็นต้น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
   1. ความหมายของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจกรรมการซื้อ-ขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business) ที่เป็นการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้า คู่ค้า ค้นหาข้อมูล หรือทำงานร่วมกันได้ขององค์กรการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Commerce) หมายถึง รูปแบบทางธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม มาใช้ในการประมวลผลและส่งผ่านข้อมูลดิจิตอล รวมทั้งข้อมูลเสียง และภาพเคลื่อนไหว โดยรวมถึงผลที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่ส่งผลดีต่อองค์กร เช่น การบริหารองค์กร การเจรจาทางธุรกิจ การทำนิติกรรมสัญญา การชำระบัญชี รวมทั้งการชำระภาษี เป็นต้น
   2. โครงสร้างพื้นฐานของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
การนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่อใช้เป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยแบ่งองค์ประกอบหลักเป็น 5 ส่วน ดังนี้
     2.1 การบริการทั่วไป เป็นส่วนบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้แก่ลูกค้าและสมาชิกที่สั่งซื้อสินค้าและบริการ ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความไว้วางใจแก่ผู้ใช้บริการแล้ว ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีให้กับองค์กรอีกด้วย ได้แก่ การรักษาความปลอดภัย และระบบชำระเงิน
     2.2 ช่องทางการติดต่อสื่อสาร เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการผ่านทางโครงข่ายโทรคมนาคม ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Data Interchange : EDI) อีเมล์ และ แอฟทีพี เป็นต้น
     2.3 รูปแบบของเนื้อหา เป็นการจัดรูปแบบของเนื้อหาเพื่อการนำเสนอสินค้าหรือบริการในรูปแบบสื่อประสม (Multimedia) ซึ่งผสมผสานระหว่างข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียเข้าด้วยกัน แล้วส่งผ่านทางเว็บไซต์บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไปยังผู้ใช้บริการได้อย่างมีปฏิสัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นมาจากเครื่องมือหรือโปรแกรมภาษาที่ทำงานบนเว็บ เช่น เอชทีเอ็มแอล จาวาสคริปต์ เอ็กซ์เอ็มแอล เป็นต้น
     2.4 ระบบเครือข่าย เป็นการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไปเข้าด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันได้ สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อาศัยระบบเครือข่ายพื้นฐาน ได้แก่ แลน แมน แวน รวมไปถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
     2.5 ส่วนประสานกับผู้ใช้ เป็นส่วนที่ใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ใช้บริการผ่านโปรแกรมเว็บเบราเซอร์

3. ประเภทของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ B2B, B2C, C2C, C2B, B2G และ G2C
     3.1 B2B (Business to Business) เป็นการทำธุรกรรมการค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ หรือระหว่างองค์กรกับองค์กร เช่น การจัดซื้อ-จัดจ้าง (Procurement) การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการด้านการชำระเงิน เป็นต้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้สนับสนุน ได้แก่ การจัดการโซ่อุปทาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ องค์กรที่ทำธุรกรรมลักษณะดังกล่าวจะจัดตั้งเป็นกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจการบิน กลุ่มธุรกิจค้าส่ง นำเข้าและส่งออก เป็นต้น
     3.2 B2C (Business to Consumer) เป็นการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการ (องค์กร) กับผู้บริโภคโดยตรง โดยใช้รูปแบบการดำเนินงาน และเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนที่คล้ายคลึงกับการทำธุรกรรมแบบ B2B
3.3 C2C (Consumer to Consumer) เป็นการทำธุรกรรมค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ในลักษณะการประมวล หรือที่มักจะนิยมเรียกกันว่า “การจัดซื้อจัดจ้างทางอินเทอร์เน็ต (E-Auction)” ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยคนกลางที่เป็นนายหน้าหรือตัวแทน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน การขายสินค้าที่ใช้แล้ว (สินค้ามือสอง) และการรับสมัครงาน เป็นต้น
     3.4 C2B (Consumer to Business) เป็นการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ (องค์กร) โดยที่ผู้บริโภคได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มสมาชิกหรือสหกรณ์ แล้วกระทำธุรกรรมกับผู้ประกอบการ (องค์กร) ในนามของกลุ่มสมาชิกหรือสหกรณ์ (ไม่ใช่ตัวบุคคล) ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการ (พนิดา พานิชกุล 2552: 206-228)
     3.5 B2G (Business to Government) เป็นการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ที่ใช้กันมากก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหรือที่เรียกว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Procurement) ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว รัฐบาลจะทำการซื้อ/จัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เช่นการประกาศจัดจ้างของภาครัฐในเว็บไซต์ www.mahadthai.com
     3.6 G2C (Government to Consumer) ในที่นี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่จะเป็นเรื่องการบริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองมีการให้บริการแล้วหลายหน่วยงาน เช่นการคำนวณและเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต, การให้บริการข้อมูลประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เช่นข้อมูลการติดต่อการทำทะเบียนต่างๆของกระทรวงมหาดไทย ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการทำเรื่องนั้น ๆ และสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบางอย่างจากบนเว็บไซต์ได้ด้วยองค์กรที่ยกตัวอย่างได้มีการนำระบบ ICT ใดเข้ามาประยุต์ใช้
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาอัตราการเข้าถึง ICT ของคนไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และในปี 2556 นี้ถือว่าเป็นปีที่ดีของ ICT เนื่องจากมีการพัฒนาของเทคโนโลยีมากขึ้น ราคาที่ปรับตัวต่ำลงทั้งราคาค่าบริการและราคาของอุปกรณ์ รวมถึงการบริหารจัดการ การออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งทาง กสทช. ก็มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ICT ได้มากขึ้น  สำหรับการบริการในภาครัฐ กระทรวงไอซีทีได้ดำเนินโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี WiFi โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือ โครงการ ICT Free WiFi ซึ่งในปี 2555 กระทรวงฯ ได้กำหนดจุดเชื่อมต่อ WiFi ไว้ 40,000 จุด แต่ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100,000 จุด ถือว่าเกินกว่าที่ได้ตั้งเป้าไว้มาก และในปี 2556 ก็ได้กำหนดให้มีการติดตั้งเพิ่มเป็น 150,000 จุด ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

          นอกจากนั้นในปี 2556 กระทรวงไอซีทียังมุ่งดำเนินโครงการอื่นๆ เพื่อทำให้ ICT เป็นโครงสร้างพื้นฐาน   ในการพัฒนาประเทศ และทำให้ประเทศก้าวไปสู่การเป็น Smart Thailand อาทิ โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network หรือ GIN) ได้ดำเนินการเชื่อมต่อหน่วยงานภาครัฐไปแล้วกว่า 2,000 หน่วยงาน และมีเป้าหมายจะเชื่อมต่อลงไปถึงระดับท้องถิ่นหรือตำบลที่อยู่ห่างไกล โครงการบริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Service) ซึ่งรัฐบาลได้มีแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ ทุกหน่วยกำหนดความต้องการด้าน ICT ร่วมกันแบบบูรณาการ และมอบหมายให้กระทรวงไอซีที และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาและแบ่งบันระบบลงบนเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Cloud Service” ซึ่งจะเป็นการลดการลงทุนด้าน Hardware และ Software ของหน่วยงานภาครัฐลงไปมาก จะทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้ถึง 40-50% โดยในปี 2556 นี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มีการขยายการให้บริการด้าน “Software as a Service” มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถวางระบบได้เร็วขึ้นจาก 2 ปี เป็น 2 สัปดาห์ด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ กระทรวงไอซีทีก็ให้ความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้มีการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศในระดับรัฐมนตรี ซึ่งในที่ประชุมให้ความสำคัญกับเรื่องการกำหนดมาตรฐาน และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้บนโลกไซเบอร์ โครงการพัฒนากรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ Thailand e-Government Interoperability Framework (TH e-GIF) กระทรวงไอซีทีได้รับมอบหมายให้นำข้อมูลเชิงเดี่ยวของแต่ละหน่วยงานมารวบรวมกันไว้ทำเป็นข้อมูลเชิงซ้อน เพื่อกำหนดแนวทางการนำข้อมูลที่บูรณาการแล้วไปประยุกต์ใช้ หรือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารในการตัดสินใจ ซึ่งในต้นปีนี้กระทรวงไอซีทีได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการ Smart Farmer/Smart Officer “1 บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง” (One ID Card for Smart Farmer) เป็นโครงการนำร่องในการบูรณาการข้อมูลของประชาชนเข้าด้วยกัน ส่วนโครงการบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service นั้นกระทรวงฯ ได้มีแนวทางในการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เพื่อกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวงมีการพัฒนา และให้ความสำคัญกับการให้บริการ e-Service มากขึ้น ตามแนวความคิดที่ว่า  “1 หน่วยงาน 1 e-Service”  ด้านโครงการ National Single window เป็นการร่วมมือของ 36หน่วยงาน ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ดำเนินงานไปเป็นที่น่าพอใจ  และคาดว่าก่อนจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การเชื่อมต่อหน่วยงานทั้ง 36 หน่วยงานจะสามารถใช้งานได้จริง และเป็น One Stop Service อย่างเต็มรูปแบบ
     สุดท้ายกระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT โดยมีแนวทางผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสถาบัน ICT หรือ ICT Academy เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่บุคลากรทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในระดับผู้บริหารที่ต้องนำ ICT มาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศอย่างชาญฉลาด และรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ประโยชน์จากการนำระบบ ICT มาประยุกต์ใช้ พอสรุปได้ดังนี้
  1.   ความสะดวกรวดเร็วในระหว่างการดำเนินงาน
  2.   ลดปริมาณผู้ดำเนินงานและประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่ง
  3.   ระบบการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีระเบียบมากขึ้นกว่าเดิม
  4.   ลดข้อผิดพลาดของเอกสารในระหว่างการดำเนินการได้
  5.   สร้างความโปร่งใสให้กับหน่วยงานหรือองค์กรได้
  6.   ลดปริมาณเอกสารในระหว่างการดำเนินงานได้มาก
  7.   ลดขั้นตอนในระหว่างการดำเนินการได้มาก
  8.   ประหยัดเนื้อที่จัดเก็บเอกสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น